วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนาฏศิลป์

  
          นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปะชนิดหนึ่งในสาขาวิจิตรศิลป์ ที่ประกอบด้วยวรรณกรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และดนตรีนาฏศิลป์ อันเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ความงาม ก่อให้เกิดอารมณ์และพุทธิปัญญา การศึกษานาฏศิลป์ไทยจึงเป็นการศึกษาวัฒนธรรมที่สำคัญสาขาหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความเป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาลแล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย นอกจากนี้นาฏศิลป์ไทยยังเป็นแหล่งรวมศิลปะหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น ศิลปะในการออกแบบตัดเย็บเครื่องแต่งกาย การก่อสร้าง การเขียนบท เป็นต้น การศึกษาความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย และการฝึกหัดนาฏศิลป์ไทยชุดต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้นั้นเป็น เยาวชนที่ดีในอนาคตสามารถที่จะสร้างสรรค์อนุรักษ์และถ่ายทอดให้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไปได้

นาฏศิลป์ เป็นคำสมาส แยกได้ 2 คำ คือ นาฏ และ ศิลป
นาฏหมายถึง การร่ายรำและการเคลื่อนไหวไปมา
ศิลปหมายถึง การแสดงออกเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์ การลอกเลียนแบบ การ ถ่ายทอดความหมายต่าง ๆ หรือ เป็นสิ่งที่มนุษย์เกิดจินตนาการในอันที่จะแสดงคุณค่าแห่งความงาม ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ หรือได้พบเห็นจากธรรมชาติแล้วนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ขึ้นให้มีความวิจิตรละเอียดอ่อน ซาบซึ้ง ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Arts”
ฉะนั้น “นาฏศิลป์” หมายถึง การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้นจากธรรมชาติด้วยความประณีตอันลึกซึ้ง เพียบพร้อมไปด้วยความวิจิตรบรรจงละเอียดอ่อน นอกจากนี้ยังหมายถึงการขับร้องและการบรรเลงด้วย


ละครไทยและละครสากล


1.1 ความหมายของละคร ( DRAMA ) นักปราชญ์ นักการศึกษา และท่านผู้รู้ได้ให้นิยามความหมายของละครแตกต่างกันออกไปดังนี้
          ละคร หมายถึง การแสดงที่ดำเนินเป็นเรื่องราว
          ละคร หมายถึง การแสดงที่ผูกเป็นเรื่อง มีเนื้อความเหตุการณ์เกี่ยวข้องเป็นตอน ๆ ตามลำดับ
          ละคร หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เกิดจากการนำภาพประสบการณ์ และจินตนาการของมนุษย์ มาผูกเป็นเรื่องราวแล้วนำเสนอแก่ผู้ชม โดยมีผู้แสดงเป็นผู้สื่อความหมาย
          ละคร หมายถึง มหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็นเรื่องราวต่าง ๆ มุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความบันเทิงใจ สนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเร้าความรู้สึกของผู้ดู ขณะเดียวกันผู้ดูก็จะได้แนวความคิด คติธรรมและปรัชญาจากการละครนั้น
          ละคร หมายถึง วรรณกรรมรูปหนึ่งเพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ของมนุษย์ โดยสร้างตัวละคร สร้างสถานการณ์ขึ้น เพื่อให้ตัวละครแสดงอารมณ์ออกมาตามสถานการณ์ ก่อให้เกิดเหตุการณ์สอดคล้องสืบเนื่องเป็นเรื่องใหญ่ หากเรื่องเล็ก ๆ ที่ตัดออกเป็นตอน ๆ นั้นต่อเนื่องกันได้โดยสนิท เป็นที่พอใจคนดู ก็นับว่าละครเรื่องนั้นเป็นละครที่ดี
          สรุปละคร หมายถึง การแสดงที่ดำเนินเป็นเรื่องราว เกิดจากการนำภาพประสบการณ์และจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่องราว โดยมีผู้แสดงเป็นผู้สื่อความหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเร้าความรู้สึกของผู้ดู และให้แนวคิด คติธรรมและปรัชญาแก่ผู้ดู

1.2 ประเภทของละคร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
          1) ละครแนวเหมือนจริง (Representational Drama) คือละครที่ให้ภาพชีวิตความเป็นจริง สะท้อนชีวิตในสังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนออกมาเป็นเรื่องราว ดังคำกล่าวที่ว่า “ ละครคือชีวิต ”
          2) ละครแนวไม่เหมือนจริง (Presentational Drama) คือละครที่ให้ภาพของการแสดงหลุดออกไปจากชีวิตประจำวัน โดยยึดคนดูเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้คนดูเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ตื่นเต้น และผู้ดูจะเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ชีวิตจริง เช่น การแสดงโขน ละครรำ ซึ่งฉากและเครื่องแต่งกายจะหรูหราเกินจริง แต่ก็สวยงามประณีตวิจิตรบรรจง มีเสน่ห์ประทับใจคนดู

1.3 องค์ประกอบของละคร ที่สำคัญมี 4 ประการ คือ
          1) ต้องมีเรื่อง (Story) ผู้ชมการแสดงจะรู้เรื่องได้โดยวิธีการฟังบทเจรจาของตัวละคร ละครจะมีคุณค่าหรือไม่อยู่ที่ผู้ประพันธ์บทจะต้องมีความสามารถในเชิงกวีโวหาร แสดงออกซึ่งลักษณะนิสัยของตัวละครในวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ
          2) ต้องมีเนื้อหาสรุป (Subject) หรือ แนวคิด (Theme) เช่น ต้องการให้เกิดความ รักชาติ ความเสียสละ ความสามัคคี ก่อให้เกิดสติปัญญา สอนคติธรรม ความกตัญญูกตเวที
          3) นิสัยตัวละคร (Characterization) บุคลิกลักษณะ กิริยาท่าทาง ต้องตรงกับนิสัย ตัวละครในเรื่อง
          4) บรรยากาศ (Atmostphere) หมายถึง การสร้างบรรยากาศรอบ ๆ ที่เกี่ยวกับตัวละคร จะต้องกลมกลืนกับการแสดงของตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปกับเรื่องได้ เช่น บรรยากาศสดชื่น รื่นเริง แจ่มใส โศกเศร้า ดุเดือด ตื่นเต้น หวาดเสียว น่ากลัว วังเวง


2.1 ประวัติความเป็นมาของละครไทย ละครไทยมีประวัติความเป็นมาแต่ละสมัย ดังนี้
          1) สมัยน่านเจ้า ในสมัยนี้พบว่ามีนิยายเรื่องหนึ่งคือ “ มโนห์รา ” ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ในอาณาจักรน่านเจ้าเดิมนั่นเอง
          2) สมัยสุโขทัย เป็นสมัยที่ริเริ่มมีความสัมพันธ์กับชาติที่นิยมอารยธรรมของอินเดีย เช่น พม่า มอญ ขอม และละว้า ไทยได้รู้จักเลือกเฟ้นศิลปวัฒนธรรมที่ดีของชาติที่สมาคมด้วย ไทยได้รับ วัฒนธรรมด้านการละครของอินเดียเข้ามาพัฒนาและกำหนดแบบแผนศิลปะการแสดงเป็นของไทย เรียกการแสดงนี้ว่า “ โขน ละคร ฟ้อนรำ ”
          3) สมัยอยุธยา การละครของไทยมีแบบแผนมากขึ้น มีการแสดงที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ หลายอย่าง เช่น ละครชาตรี ละครนอก ละครใน และโขน
          4) สมัยธนบุรี เป็นช่วงหลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งเสริมฟื้นฟูการละครขึ้นใหม่ รวบรวมศิลปินตลอดจนบทละครเก่า ๆ ที่กระจัดกระจายไปเข้ามาอยู่รวมกัน และทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นอีก 5 ตอน คือ หนุมานเกี้ยวนางวานริน ท้าวมาลีวราชว่าความ ทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด ( เผารูปเทวดา ) พระลักษณ์ถูกหอกกบิลพัท และปล่อยม้าอุปการ ในสมัยนี้มี คณะละครหลวงและเอกชนเกิดขึ้นหลายโรง
          5) สมัยรัตนโกสินทร์ การละครไทยได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ตามลำดับดังนี้
          สมัยรัชกาลที่ 1 มีการรวบรวมตำราฟ้อนรำไว้เป็นหลักฐานสำคัญ มีบทละครที่ปรากฏตามหลักฐาน 4 เรื่อง คือ อุณรุท รามเกียรติ์ ดาหลัง และอิเหนา
          สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นสมัยที่วรรณคดีรุ่งเรืองมากที่สุด เป็นยุคทองแห่งศิลปะการละคร มีนักปราชญ์ราชกวี 3 ท่าน คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี และสุนทรภู่ มีบทละครในและละครนอกเกิดขึ้นหลายเรื่อง คือ บทละครใน เรื่อง อิเหนาและรามเกียรติ์ บทละครนอก เรื่อง ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง และมณีพิชัย
          สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงให้ยกเลิกละครหลวง ทำให้เกิดละครของเจ้านายและขุนนางหลายคณะ หลายโรง มีบทละครเกิดขึ้นมากมาย
          สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงฟื้นฟูละครหลวงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
          สมัยรัชกาลที่ 5 การละครเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการละครตะวันตกได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดละครประเภทต่าง ๆ เช่น ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้อง ละครพูด และ ลิเก
          สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นสมัยที่การละครได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด นับได้ว่าเป็นยุคทองแห่งศิลปะการแสดงละครยุคที่ 2 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น และทรง พระราชนิพนธ์บท โขน ละคร ฟ้อนรำ ไว้เป็นจำนวนมาก
          สมัยรัชกาลที่ 7 มีละครแนวใหม่เกิดขึ้นคือละครเพลงหรือเป็นที่รู้จักกันว่า ละครจันทโรภาส ตลอดทั้งมีละครหลวงวิจิตรวาทการเกิดขึ้น
           สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดง ละครได้แสดงกันอย่างแพร่หลาย เพราะเหตุว่าภาพยนตร์ฉายไม่ได้ ละครอาชีพจึงเกิดขึ้นมากมายเรียกว่า “ ละครย่อย ” ส่วนใหญ่จะแสดงประเภทตลก ๆ พอหลังสงครามละครย่อยก็หายไป ต่อมาก็มีละครแบบใหม่เกิดขึ้นอีก คือ ละครวิทยุ ละครเวที และละครโทรทัศน์ ซึ่งได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
2.2 ประวัติความเป็นมาของละครสากล ต้นกำเนิดของละครสากลทั้งตะวันตกและตะวันออกเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล โดยอียิปต์เป็นชาติแรกที่มีการแสดงที่ เก่าแก่ที่สุดในโลก อียิปต์เป็นต้นกำเนิดของศิลปะหลายแขนง มีศิลาจารึกมากกว่า 4,000 ปี
          1) สมัยอียิปต์ ก่อน คศ . 4 , 000 – 3 , 000 ปี จากศิลาจารึก ภาพเขียน และภาพจารึกในหลุมฝังศพของกษัตริย์อียิปต์โบราณในพีระมิดจะพบหลักฐานการแสดงละครสมัยแรกเป็นการแสดงกลางแจ้ง เพื่อประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าโอซิริส (Osiris) โดยมีกษัตริย์อีเธอร์โนเฟรด (Ithernofret) ทรงแสดงเป็นตัวนำเอง มีขบวนเรือ จัดแสดงฉากรบที่เห็นจริงเห็นจังกลางแจ้งติดต่อกัน 3 วัน
          2) สมัยกรีก – โรมัน ก่อน คศ . 535 – 200 ปี จุดเริ่มต้นการละครของกรีกเหมือนกับอียิปต์ คือเริ่มด้วยการขับร้องและเต้นรำ เพื่อบูชาเทพเจ้า ไดโอนิซัส (Dionysus) อันเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นและความอุดมสมบูรณ์ (God of Vine & Fertility) จะทำกลางแจ้ง สร้างแท่นบูชาที่เชิงเขา ประชาชนจะมาร้องเพลงและเต้นไปรอบ ๆ แท่นบูชานี้ และมีการฆ่าแพะบวงสรวงด้วย ต่อมาการเต้นและการร้องเพลงสดุดีเทพเจ้านี้ได้กลายเป็นละคร โดยละครกรีกรุ่นแรกจะเป็นแบบโศกนาฏกรรม (Tragedy) เมื่อผู้ชมเริ่มเบื่อหน่ายจึงเกิดการแสดงละครแบบสุขนาฏกรรม (Comedy) ครั้นกรีกเสื่อมอำนาจพวกโรมันก็นำการแสดงของกรีกมาปรับปรุง เพิ่มฉากหวาดเสียว มีฉากรบ ฆ่าสัตว์ และการต่อสู้
          3) สมัยยุโรปสมัยกลาง คศ . 506 – 1500 ปี เอาแบบอย่างมาจากกรีก แต่นิยมเต้นรำทำท่า ทำให้เกิดความนิยมละครใบ้ หรือ แพนโทไมม์ ( Pantomime ) ไม่มีเสียงร้อง มีแต่ท่าทาง ละครในสมัยกลางเกิดจากวัดและโบสถ์ แสดงในวันอีสเตอร์และวันคริสต์มาส พระได้ใช้การแสดงละครประกอบในการสอนศาสนา
          4) สมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา หรือ สมัยเรอเนซองส์ คศ . 1500 – 1700 ปี ละครยุดนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แสดงเหตุการณ์ที่ร้าย ๆ น่ากลัว มีทั้งเรื่องโศกเศร้าและสมหวังอยู่ในเรื่องเดียวกัน
          5) สมัยโรแมนติก คศ . 1700 – 1850 ปี เป็นละครที่เกี่ยวกับเลือดเนื้อ มีเรื่องเกี่ยวกับผี ปีศาจ
          6) สมัยสัจจนิยม คศ . 1900 – 1950 ปี เริ่มเป็นละครสมจริงสมจัง เนื้อเรื่องสะท้อนความเป็นจริง
          7) สมัยปัจจุบัน คศ . 1950 ปี ละครสมัยนี้เจริญขึ้นทุกด้าน มีการเอาศิลปะต่าง ๆ เข้ามาผสม เช่น ศิลปะการแต่งกาย การวาดภาพ การใช้แสง สี เสียง หรือแม้แต่การนำเอาเครื่องอีเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการแสดง นอกจากนี้ยังมีการนำเอา ระบำพื้นเมือง ( Folk Dance ) และ ระบำสมัยใหม่ ( Modern Dance ) เข้ามาประกอบในละคร เพื่อให้สมจริงสมจังยิ่งขึ้น
3.1 รูปแบบของละครไทย ละครไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
     1) ละครรำ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
          1.1 ละครรำแบบดั้งเดิม ( ละครรำโบราณ ) ได้แก่ ละครโนห์รา - ชาตรี ละครนอก และละครใน
          1.2 ละครรำที่ปรับปรุงขึ้น ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง และละครเสภา
          •  ละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ( ไม่ใช่ละครรำ ) ได้แก่ ละครร้อง ละครสังคีต และละครพูด

    1) ละครรำ เป็นละครประเภทที่ใช้ศิลปะการร่ายรำดำเนินเรื่อง มีการขับร้องและเจรจา เป็นกลอนบทละคร ละครรำแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
          1.1 ละครรำแบบดั้งเดิม ( ละครรำโบราณ ) ได้แก่
          ละครโนห์รา - ชาตรี ถือว่าเป็นต้นแบบของละครรำ นิยมใช้ ผู้ชายแสดง มีตัวละคอน 3 ตัว คือ ตัวพระ ตัวนาง และเบ็ดเตล็ด ( เป็นตลก , ฤษี ฯลฯ ) เรื่องที่เล่นคือ “ มโนห์รา ” ตอน จับนางมโนห์รามาถวายพระสุธน การแสดงเริ่มด้วยการบูชาครูเบิกโรง ผู้แสดงออกมารำซัดไหว้ครู โดยร้องเอง รำเอง ตัวตลกที่นั่งอยู่เป็นลูกคู่เมื่อร้องจบจะมีบทเจรจาต่อ
           ละครนอก ดัดแปลงมาจากละครโนห์รา - ชาตรี เป็นละครที่เกิดขึ้นนอกพระราชฐาน เป็นละครที่คนธรรมดาสามัญนิยมเล่นกัน ผู้แสดงเป็นชายล้วน ไม่มีฉากประกอบ นิยมเล่นกันตามชนบทท่ารำและเครื่องแต่งกายไม่ค่อยพิถีพิถัน เรื่องที่ใช้แสดงละครนอกเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น สังข์ทอง มณีพิชัย ไกรทอง สังข์ศิลป์ชัย โม่งป่า พิกุลทอง การะเกด เงาะป่า ฯลฯ การแสดงดำเนินเรื่องรวดเร็ว โลดโผน ในบางครั้งจะพูดหยาบโลน มุ่งแสดงตลก ใช้ภาษาตลาด และไม่คำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณี
          ละครใน เป็นละครที่พระมหากษัตริย์ทรงดัดแปลงมาจากละครนอก ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน และแสดงในพระราชฐานเท่านั้น การแสดงละครในมีความประณีตวิจิตรงดงาม ท่ารำต้องพิถีพิถันให้มีความอ่อนช้อย เครื่องแต่งกายสวยงาม บทกลอนไหเราะ สำนวนสละสลวยเหมาะสมกับท่ารำ เพลงที่ใช้ขับร้องและบรรเลงต้องไพเราะ ช้า ไม่ลุกลน เรื่องที่ใช้แสดงมี 3 เรื่อง คือ อิเหนา รามเกียรติ์ และอุณรุท
      1.2 ละครรำที่ปรับปรุงขึ้น ได้แก่
          ละครดึกดำบรรพ์ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นำแบบอย่างมาจากละครโอเปร่า (Opera) ของยุโรป ลักษณะการแสดงละครดึกดำบรรพ์ คือ ผู้แสดงร้องและรำเอง ไม่มีการบรรยายเนื้อร้อง ผู้ชมต้องติดตามฟังจากการร้องและบทเจรจาของผู้แสดง
          ละครพันทาง เกิดหลังละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครรำแบบละครนอกผสมละครในมีศิลปะของชาติต่าง ๆ เข้ามาปะปนตามท้องเรื่อง ทั้งศิลปะการร้อง การรำ และการแต่งกาย ผสมกับศิลปะไทย โดยยึดท่ารำไทยเป็นหลัก นิยมแสดงเรื่อง ราชาธิราช พระลอ สามก๊ก พญาน้อย ฯลฯ
          ละครเสภา เป็นละครที่ดำเนินเรื่องด้วยการรำประกอบบทร้องและบทขับเสภา มีเครื่องประกอบจังหวะพิเศษคือ “ กรับเสภา ” เรื่องที่นิยมแสดงคือ ขุนช้าง - ขุนแผน ไกรทอง

     2) ละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ( ไม่ใช่ละครรำ ) ได้แก่
          2.1 ละครร้อง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินเรื่องด้วยการร้อง ไม่มีท่ารำ ผู้แสดงจะต้องร้องเอง เรื่องที่นิยมแสดงคือ ตุ๊กตายอดรัก สาวเครือฟ้า ขวดแก้วเจียระไน
           2.2 ละครสังคีต คล้ายละครร้อง ต่างกันที่ละครสังคีตถือบทร้องและบทเจรจาเป็นสำคัญ เท่ากัน จะตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไม่ได้
          2.3 ละครพูด ดำเนินเรื่องด้วยการพูด ไม่มีการร้อง ผู้แสดงพูดเอง เป็นต้นแบบของละครวิทยุ ละครเวที และละครโทรทัศน์ในปัจจุบัน
 
3.2 รูปแบบละครสากล แบ่งออกได้ดังนี้
      1) ละครโศกนาฏกรรม (Tragedy)
     2) ละครสุขนาฏกรรม (Comedy)
     3) ละครอื่น ๆ เช่น ละครครึ่งโศกครึ่งขบขัน (Tragic-Comedy) , ละครชนิดหยาบโลน (Farce) , ละครพูด (Melo-Drama) , ละครใบ้ (Pantomime) , บัลเล่ต์ (Ballet) และละครอุปรากร (Opera)
          1) ละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) เริ่มจากเรื่องของศาสนาเพื่อสรรเสริญเทพเจ้า ละครชนิดนี้มักลงท้ายด้วยความทรมาน ขมขื่น น่าสงสาร การดำเนินเรื่องประกอบด้วยความเสียใจ ระทม และผิดหวังของตัวละครในเรื่อง บางทีตอนแรกไม่โศกแต่ลงท้ายด้วยความขมขื่นน่าสลดใจ
          2) ละครสุขนาฏกรรม (Comedy) ตรงข้ามกับละครโศกนาฏกรรม เนื้อเรื่องเป็นไปในทำนองล้อเลียนสังคม และบุคคลบางประเภท หรือล้อเลียนขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่นิยมเอาเรื่องประวัติศาสตร์มาแต่ง ไม่มีการตาย ไม่มีภัยพิบัติ นอกจากความสนุกสนาน ตัวตลกมักเป็นบุคคลชั้นกลางหรือชั้นต่ำ
          3) ละครอื่น ๆ
          3.1 ละครครึ่งโศกครึ่งขบขัน (Tragic-Comedy) เป็นละครเบาสมองจบลงด้วยตัวเอกของเรื่องผิดหวัง
           3.2 ละครชนิดหยาบโลน (Farce) เนื้อเรื่องตลกขบขัน มีการด่าทอตบตีกัน เนื้อเรื่องดำเนินรวดเร็วจบลงอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ ตัวละครตลกขบขัน
          3.3 ละครพูด (Melo-Drama) ตัวละครต้องใช้ท่าทางที่ผิดไปกว่าคนธรรมดา มีดนตรีประกอบ มีแต่พูดไม่มีร้อง
          3.4 ละครใบ้ (Pantomime) การแสดงของตัวละครเกิดจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย แสดงกิริยาท่าทางประกอบเรื่อง ไม่มีการเจรจา
          3.5 บัลเล่ต์ (Ballet) ใช้ดนตรีประกอบการเต้นด้วยลีลาท่าทางต่าง ๆ เป็นการแสดงระบำปลายเท้าประกอบดนตรี มีฉาก แสง สี และเครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงามตระการตา
          3.6 ละครอุปรากร (Opera) ใช้ดนตรีเป็นหลักในการแสดง มีการร้องไม่มีการเจรจา ตัวละครร้องโต้ตอบกัน บทร้องเป็นบทร้อยกรอง ประเภทกลอน หรือร่ายตามเนื้อเรื่อง ตัวละครในอุปรากรรูปร่างหน้าตาสำคัญน้อยกว่าคุณภาพของเสียง


ละครใน เรื่อง อิเหนา

 
ละครพันทาง เรื่อง ราชาธิราช ตอน สมิงพระราม

          ละครเป็นทั้งอาหารตาและอาหารใจ เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์มาก ละครตะวันตกจะเกิดขึ้นจากศาสนา คือยึดถือเทพเจ้า การสอนสิ่งที่มีสาระแก่นสารในเรื่องคุณธรรมที่ควรยึดถือในสมัยนั้น แต่ละครของไทยเกิดขึ้นเพื่อต้องการผ่อนคลายความเครียดจากการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ประจำวัน ต่อมาการละครได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการแสดงความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง แล้วแต่ว่ามนุษย์เหล่านั้นจะหาทางออกหรือหาทางแก้ไขอย่างไร นับเป็นสิ่งที่ให้ประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการมีชีวิตอยู่ทุกวัน บางเรื่องอาจแสดงความเพ้อฝัน ความหวังของมนุษย์ที่ไม่อาจเป็นไปได้แต่ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความบันเทิง เช่น ละครเทพนิยาย หนังการ์ตูน การเรียนนาฏศิลป์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับละคร จะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชีวิตผู้คนในสังคม ให้แนวคิดและหลักการมากมายที่นักเรียนจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี การแสดงละครแต่ละเรื่องจะเป็นการจำลองชีวิตจริงของมนุษย์มาแสดงให้เห็นบนเวที บทบาทของตัวละครจะสะท้อนบทบาทของผู้คนในสังคม ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไปตามสภาพของคนในสังคมนั้น ๆ การศึกษาทางด้านละครเท่ากับเป็นการศึกษาแง่มุมของชีวิตมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทำให้สามารถเข้าใจปัญหา เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคม ภาษาและวรรณคดีมากขึ้น ทำให้เป็นคนมีความรู้กว้างไกล มีความรับผิดชอบต่อตนเองและหมู่คณะได้ดี การที่นักเรียนได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ทั้งในด้านทฤษฎี หลักการ วิธีการ ทักษะ กระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้